8,900 view
งานทะเบียนราษฎร์
 


จดทะเบียนรับรองบุตร (ไม่มีค่าธรรมเนียม)

 1. คุณสมบัติของผู้ขอจดทะเบียนรับรองบุตร

  1. ผู้ร้องขอจดทะเบียนหรือบุตรต้องมีสัญชาติไทย
  2. ผู้ร้องขอจดทะเบียน มารดาของบุตร และบุตรต้องแสดงความยินยอมไม่คัดค้านในการร้องขอจดทะเบียน

 2. หลักฐานหรือเอกสารประกอบการขอจดทะเบียนรับรองบุตร

  1. หนังสือเดินทาง
  2. หนังสือให้ความยินยอมในการจดทะเบียน
  3. คำพิพากษาหรือคำสั่งศาล (หากมี)


จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม

 1. คุณสมบัติของผู้ขอจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม

  1. ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ และแก่กว่าผู้เป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
  2. ผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ ต้องมาลงชื่อในช่องผู้ร้องขอจดทะเบียนด้วย
  3. ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา หรือผู้แทนโดยชอบธรรม กรณีผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์
  4. ถ้าผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้เป็นบุตรบุญธรรมมีคู่สมรส ต้องให้คู่สมรสไปให้ความยินยอม เว้นแต่
    1. คู่สมรสไม่สามารถแสดงเจตนาให้ความยินยอมได้
    2. คู่สมรสไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และไม่มีใครได้รับข่าวคราวเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี
  5. หากเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลใดอยู่ จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีกในขณะเดียวกันไม่ได้ เว้นแต่จะเป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น

 2. หลักฐานหรือเอกสารประกอบการขอจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม

  1. หนังสือเดินทาง
  2. หนังสืออนุมัติให้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมจากคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (กรณีบุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์)
  3. หนังสือให้ความยินยอม (กรณีผู้รับบุตรบุญธรรมและผู้เป็นบุตรบุญธรรมมีคู่สมรส หรือผู้เป็นบุตรบุญธรรมยังเป็นผู้เยาว์อยู่)
  4. คำพิพากษาหรือคำสั่งศาล (หากมี)


จดทะเบียนยกเลิกรับบุตรบุญธรรม

1. คุณสมบัติของผู้ขอจดทะเบียนยกเลิกรับบุตรบุญธรรม

  1. ผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมตกลงยินยอมยกเลิกการรับบุตรบุญธรรม
  2. กรณีบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา หรือมีคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล

2. หลักฐานหรือเอกสารประกอบการขอจดทะเบียนยกเลิกรับบุตรบุญธรรม

  1. หนังสือเดินทาง
  2. สำเนาทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
  3. หนังสือให้ความยินยอมของบุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมตามกฎหมาย (กรณีบุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์)
  4. คำพิพากษาหรือคำสั่งศาล

3. บุตรบุญธรรมที่มีอายุเกิน 15 ปี ต้องลงชื่อให้ความยินยอมด้วย

บันทึกฐานะแห่งครอบครัว

ผู้ที่ได้จดทะเบียนสมรส หย่า รับรองบุตร รับบุตรบุญธรรม หรือเลิกรับบุตรบุญธรรม ตามแบบกฎหมายของสหรัฐฯ อาจขอให้บันทึกกิจการอันเกี่ยวกับฐานะแห่งครอบครัวเหล่านี้ในประเทศไทยได้โดยมีวิธีดำเนินการดังต่อไปนี้

  1. จัดทำคำแปลเอกสารใบทะเบียนสมรสหรือทะเบียนหย่าเป็นภาษาไทย โดยยื่นต่อสถานกงสุลใหญ่ฯ เพื่อขอรับรองคำแปลเอกสาร (สถานกงสุลใหญ่ฯ ไม่รับแปลเอกสาร ท่านสามารถแปลเอกสารได้ด้วยตนเองหรือให้ผู้มีความสามารถแปลให้)
  2. ทำหนังสือบันทึกข้อตกลงในการใช้ชื่อนามสกุลสามี (โดยสามีให้ความยินยอมใช้ชื่อนามสกุลร่วม) ท่านสามารถทำหนังสือฉบับนี้ได้ที่สถานกงสุลใหญ่ฯ แล้วนำไปยื่นเพื่อขอแก้ไขในทะเบียนบ้าน และบัตรประชาชน ที่สำนักทะเบียนในประเทศไทย ด้วยตนเอง
  3. หากท่านไม่สะดวกที่จะเดินทางกลับไปแก้ไขข้อมูลทะเบียนราษฎรที่ประเทศไทยด้วยตนเอง ท่านสามารถมอบอำนาจให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งดำเนินการแทนได้ โดยติดต่อขอทำหนังสือมอบอำนาจได้ที่สถานกงสุลใหญ่ฯ เพื่อรับรองลายมือชื่อของท่าน
  4. เอกสารแปลฉบับดังกล่าวจะต้องผ่านการรับรองอีกครั้งหนึ่งจากกองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล กระทรวงต่างประเทศ 123 ถ.แจ้งวัฒนะ หลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 โทรศัพท์ 02-575-1058 ถึง 59 ก่อนที่ท่านจะนำไปยื่น ณ สำนักทะเบียนที่ท่านมีภูมิลำเนาอยู่

เอกสารที่ต้องใช้ในการดำเนินการข้างต้น มีดังต่อไปนี้

  1. คำร้องนิติกรณ์
  2. ทะเบียนสมรส/ทะเบียนหย่า (ตัวจริง)
  3. ใบแปลทะเบียนสมรส/ทะเบียนหย่า
  4. หนังสือมอบอำนาจสำหรับจดทะเบียนบันทึกฐานะแห่งครอบครัว
  5. บันทึกข้อตกลงในการใช้ชื่อสกุลสามี
  6. สำเนาหนังสือเดินทางหรือบัตรประชาชนที่ยังมีอายุใช้การอยู่
  7. สำเนาหนังสือเดินทางหรือบัตรประชาชนของสามี
  8. ค่าธรรมเนียม 15.00 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อฉบับ เป็น Money Order หรือ Cashier's Check สั่งจ่าย "Royal Thai Consulate-General, Chicago"
โปรดทราบ 
 ♦  การจดทะเบียนครอบครัวไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียม 
 ♦  เพื่อความสะดวกของท่าน โปรดติดต่อสถานกงสุลใหญ่ฯ ล่วงหน้าก่อนไปจดทะเบียน 
 ♦  ต้องการทราบข้อมูลการจดทะเบียนสมรสของเขตมณฑล Cook County มลรัฐอิลลินอยส์  [ กดตรงนี้ ]

หากมีข้อสงสัย ขอให้โทรติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  สถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก ในวันและเวลาราชการที่หมายเลขโทรศัพท์ (312) 664–3129 ต่อ 109