งานทะเบียนราษฎร์
จดทะเบียนรับรองบุตร (ไม่มีค่าธรรมเนียม)
1. คุณสมบัติของผู้ขอจดทะเบียนรับรองบุตร
- ผู้ร้องขอจดทะเบียนหรือบุตรต้องมีสัญชาติไทย
- ผู้ร้องขอจดทะเบียน มารดาของบุตร และบุตรต้องแสดงความยินยอมไม่คัดค้านในการร้องขอจดทะเบียน
2. หลักฐานหรือเอกสารประกอบการขอจดทะเบียนรับรองบุตร
- หนังสือเดินทาง
- หนังสือให้ความยินยอมในการจดทะเบียน
- คำพิพากษาหรือคำสั่งศาล (หากมี)
จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
1. คุณสมบัติของผู้ขอจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
- ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ และแก่กว่าผู้เป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
- ผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ ต้องมาลงชื่อในช่องผู้ร้องขอจดทะเบียนด้วย
- ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา หรือผู้แทนโดยชอบธรรม กรณีผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์
- ถ้าผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้เป็นบุตรบุญธรรมมีคู่สมรส ต้องให้คู่สมรสไปให้ความยินยอม เว้นแต่
- คู่สมรสไม่สามารถแสดงเจตนาให้ความยินยอมได้
- คู่สมรสไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และไม่มีใครได้รับข่าวคราวเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี
- หากเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลใดอยู่ จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีกในขณะเดียวกันไม่ได้ เว้นแต่จะเป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น
2. หลักฐานหรือเอกสารประกอบการขอจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
- หนังสือเดินทาง
- หนังสืออนุมัติให้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมจากคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (กรณีบุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์)
- หนังสือให้ความยินยอม (กรณีผู้รับบุตรบุญธรรมและผู้เป็นบุตรบุญธรรมมีคู่สมรส หรือผู้เป็นบุตรบุญธรรมยังเป็นผู้เยาว์อยู่)
- คำพิพากษาหรือคำสั่งศาล (หากมี)
จดทะเบียนยกเลิกรับบุตรบุญธรรม
1. คุณสมบัติของผู้ขอจดทะเบียนยกเลิกรับบุตรบุญธรรม
- ผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมตกลงยินยอมยกเลิกการรับบุตรบุญธรรม
- กรณีบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา หรือมีคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล
2. หลักฐานหรือเอกสารประกอบการขอจดทะเบียนยกเลิกรับบุตรบุญธรรม
- หนังสือเดินทาง
- สำเนาทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
- หนังสือให้ความยินยอมของบุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมตามกฎหมาย (กรณีบุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์)
- คำพิพากษาหรือคำสั่งศาล
3. บุตรบุญธรรมที่มีอายุเกิน 15 ปี ต้องลงชื่อให้ความยินยอมด้วย
บันทึกฐานะแห่งครอบครัว
ผู้ที่ได้จดทะเบียนสมรส หย่า รับรองบุตร รับบุตรบุญธรรม หรือเลิกรับบุตรบุญธรรม ตามแบบกฎหมายของสหรัฐฯ อาจขอให้บันทึกกิจการอันเกี่ยวกับฐานะแห่งครอบครัวเหล่านี้ในประเทศไทยได้โดยมีวิธีดำเนินการดังต่อไปนี้
- จัดทำคำแปลเอกสารใบทะเบียนสมรสหรือทะเบียนหย่าเป็นภาษาไทย โดยยื่นต่อสถานกงสุลใหญ่ฯ เพื่อขอรับรองคำแปลเอกสาร (สถานกงสุลใหญ่ฯ ไม่รับแปลเอกสาร ท่านสามารถแปลเอกสารได้ด้วยตนเองหรือให้ผู้มีความสามารถแปลให้)
- ทำหนังสือบันทึกข้อตกลงในการใช้ชื่อนามสกุลสามี (โดยสามีให้ความยินยอมใช้ชื่อนามสกุลร่วม) ท่านสามารถทำหนังสือฉบับนี้ได้ที่สถานกงสุลใหญ่ฯ แล้วนำไปยื่นเพื่อขอแก้ไขในทะเบียนบ้าน และบัตรประชาชน ที่สำนักทะเบียนในประเทศไทย ด้วยตนเอง
- หากท่านไม่สะดวกที่จะเดินทางกลับไปแก้ไขข้อมูลทะเบียนราษฎรที่ประเทศไทยด้วยตนเอง ท่านสามารถมอบอำนาจให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งดำเนินการแทนได้ โดยติดต่อขอทำหนังสือมอบอำนาจได้ที่สถานกงสุลใหญ่ฯ เพื่อรับรองลายมือชื่อของท่าน
- เอกสารแปลฉบับดังกล่าวจะต้องผ่านการรับรองอีกครั้งหนึ่งจากกองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล กระทรวงต่างประเทศ 123 ถ.แจ้งวัฒนะ หลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 โทรศัพท์ 02-575-1058 ถึง 59 ก่อนที่ท่านจะนำไปยื่น ณ สำนักทะเบียนที่ท่านมีภูมิลำเนาอยู่
เอกสารที่ต้องใช้ในการดำเนินการข้างต้น มีดังต่อไปนี้
- คำร้องนิติกรณ์
- ทะเบียนสมรส/ทะเบียนหย่า (ตัวจริง)
- ใบแปลทะเบียนสมรส/ทะเบียนหย่า
- หนังสือมอบอำนาจสำหรับจดทะเบียนบันทึกฐานะแห่งครอบครัว
- บันทึกข้อตกลงในการใช้ชื่อสกุลสามี
- สำเนาหนังสือเดินทางหรือบัตรประชาชนที่ยังมีอายุใช้การอยู่
- สำเนาหนังสือเดินทางหรือบัตรประชาชนของสามี
- ค่าธรรมเนียม 15.00 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อฉบับ เป็น Money Order หรือ Cashier's Check สั่งจ่าย "Royal Thai Consulate-General, Chicago"
โปรดทราบ
♦ การจดทะเบียนครอบครัวไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียม
♦ เพื่อความสะดวกของท่าน โปรดติดต่อสถานกงสุลใหญ่ฯ ล่วงหน้าก่อนไปจดทะเบียน
♦ ต้องการทราบข้อมูลการจดทะเบียนสมรสของเขตมณฑล Cook County มลรัฐอิลลินอยส์ [ กดตรงนี้ ]
หากมีข้อสงสัย ขอให้โทรติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก ในวันและเวลาราชการที่หมายเลขโทรศัพท์ (312) 664–3129 ต่อ 109