วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ก.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 ต.ค. 2565

| 2,249 view

คำถามที่พบบ่อย
สำหรับการทำบัตรประจำตัวประชาชนในต่างประเทศ


ที่มา: http://www.consular.go.th/main/th/faq/7392

1. การเรียกเก็บและอัตราค่าธรรมเนียมในการทำบัตรประจำตัวประชาชนว่ามีข้อกำหนดเช่นไรอัตราค่าธรรมเนียมการทำบัตรใน ประเทศและในต่างประเทศเท่ากันหรือไม่อย่างไร

การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนนั้นเป็น ไปตามที่กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับบัตร ประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2555 กำหนดไว้ได้แก่ การออกบัตรในกรณีบัตรหายหรือถูกทำลาย บัตรชำรุด หรือแก้ไขชื่อตัว ชื่อสกุล หรือชื่อตัวและชื่อสกุลในทะเบียนบ้านหรือย้ายที่อยู่ (ตามมาตรา 6 จัตวา) ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ฉบับละ 20 บาท ไม่ว่าจะทำบัตรในประเทศหรือต่างประเทศก็เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราที่เท่ากัน ทั้งนี้กรมการปกครองอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงกฎกระทรวงในเรื่องดังกล่าว ให้เกิดความสอดคล้องกับเงื่อนไขและภาวการณ์ในปัจจุบัน

ดังนั้น ในขณะนี้ สถานเอกอัคราชทูตและสถานกงสุลใหญ่จะกำหนดอัตราที่เหมาะสมให้ใกล้เคียงกับ อัตรา 20 บาท เช่น 1 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1 ยูโร เป็นต้น เพื่อความสะดวกในการจัดเก็บในเรื่องเงินทอน โดยรายได้จะโอนเข้าเป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน  อัตราค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บในปัจจุบัน ถือเป็นอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับต้นทุนค่าวัสดุผลิตบัตรที่มีต้นทุนเฉลี่ย ประมาณ 150 บาทต่อใบ

 

2. บัตรประจำตัวประชาชนที่ทำในต่างประเทศและที่ทำในประเทศไทยมีลักษณะตัวบัตรและมีระยะเวลาหมดอายุของบัตรเหมือนกันหรือไม่ อย่างไร
ตัวบัตรประจำตัวประชาชนไม่ว่าจะเป็นขนาด สี ลักษณะของบัตร หรือการพิมพ์รายการข้อมูลในบัตรเหมือนกับบัตรประจำตัวประชาชนที่ทำในประเทศ ไทยทุกประการ และระยะเวลาหมดอายุของบัตรก็เหมือนกันคือ  มีอายุแปดปี นับแต่วันออกบัตร ทั้งนี้ เป็นไปตามที่พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้

 

3. ประชาชนสามารถรับบริการทำบัตรประจำตัวประชาชนในต่างประเทศได้ในกรณีใดบ้าง

ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2555) ออกตามความในพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 กำหนดให้ผู้มีถิ่นพำนักนอกราชอาณาจักรตามรายชื่อประเทศที่รัฐมนตรี (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย) ประกาศกำหนดสามารถยื่นคำขอได้เฉพาะ

1. กรณีขอมีบัตรใหม่ ได้แก่ กรณีบัตรเดิมหมดอายุ หรือกรณีบัตรเดิมสูญหาย หรือถูกทำลาย

2. กรณีขอเปลี่ยนบัตร ได้แก่ กรณีบัตรเดิมชำรุดในสาระสำคัญในส่วนของรูปถ่าย หรือรายการบุคคลเจ้าของบัตรหรือวัสดุเคลือบบัตรป้องกันการปลอมแปลง กรณีผู้ถือบัตรเปลี่ยนชื่อตัวหรือเปลี่ยนชื่อสกุล หรือเปลี่ยนชื่อตัวและชื่อสกุล

สำหรับกรณีที่ยังไม่เคยยื่นคำขอมีบัตร (ไม่เคยทำบัตร) ไม่สามารถยื่นขอทำบัตรในต่างประเทศได้หากประสงค์จะทำบัตรจะต้องมาดำเนินการ ยื่นคำขอในประเทศไทยเท่านั้น

 

4. คนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลานานและไม่เคยทำบัตรประจำตัว ประชาชนมาก่อน จะทำบัตรประจำตัวประชาชนในต่างประเทศที่ตนเองพักอาศัยอยู่ได้หรือไม่

ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2555) ออกตามความในพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 กำหนดให้สามารถดำเนินการได้เฉพาะผู้เคยทำบัตรประจำตัวประชาชนมาแล้วเท่านั้น สำหรับผู้ยังไม่เคยทำบัตรมาก่อน ไม่สามารถยื่นคำขอมีบัตรได้ในต่างประเทศ หากจะทำบัตรต้องมาดำเนินการยื่นคำขอมีบัตรในประเทศไทย ทั้งนี้จะต้องจัดเตรียมข้อมูลเอกสาร หลักฐาน ประกอบที่สามารถยืนยันตัวบุคคลได้พร้อมพยานบุคคล ไปติดต่อขอทำบัตรได้ในท้องที่ที่ตนเองเกิดหรือในท้องที่ที่ตนเองมีภูมิลำเนา อยู่ในปัจจุบัน

สาเหตุที่ยังไม่อนุญาตให้ดำเนินการในต่างประเทศได้ เนื่องจากต้องมีการตรวจสอบหลักฐานและ/หรือพยานบุคคล รวมทั้งเกี่ยวข้องกับระเบียบ/ข้อกฎหมายหลายข้อที่ต้องดำเนินการ เพื่อให้แน่นอนว่าการออกบัตรประจำตัวประชาชนนั้นถูกต้องตรงกับบุคคลที่ยื่น ขอมีบัตร

 

5. ทราบว่าผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลางไม่สามารถขอทำบัตรประจำตัวประชาชนในต่างประเทศได้ จะต้องดำเนินการอย่างไร

คนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศเป็นเวลานาน โดยปกติแล้วจะต้องแจ้งย้ายชื่อออกจากทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) เข้าไปอยู่ในทะเบียนบ้านชั่วคราวสำหรับคนที่เดินทางไปต่างประเทศ มิฉะนั้นอาจจะถูกนำชื่อไปอยู่ในทะเบียนบ้านกลาง โดยสำนักทะเบียนแต่ละแห่งจะกำหนดให้มีทะเบียนบ้านชั่วคราวสำหรับลงรายการของ บุคคลที่เดินทางไปต่างประเทศสำนักทะเบียนละ 1 แห่ง [ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร 2535 ข้อ 87]  ซึ่งผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านชั่วคราวดังกล่าว จะมีสิทธิขอทำบัตรประจำตัวประชาชนในต่างประเทศได้

อย่างไรก็ดี กระทรวงมหาดไทยได้อนุโลมให้ผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (ท.ร. 14) ที่ยังไม่ได้โอนชื่อเข้าทะเบียนบ้านชั่วคราวสามารถต่ออายุบัตรฯ ในต่างประเทศได้ก่อน แต่ขอให้ สอท./สกญ. แนบเอกสารที่เป็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติที่ถูกต้องตาม พ.ร.บ. ทะเบียนราษฎรให้ผู้ร้องพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควรในภายหลัง เช่น ผู้ยื่นขอทำบัตรอาจดำเนินการเองในการโอนชื่อเข้าทะเบียนบ้านชั่วคราว หรือมอบอำนาจให้ญาติพี่น้องที่อยู่ในประเทศไทยยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านชั่วคราวสำหรับคนที่เดินทางไปต่างประเทศได้ [ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 5) 2551 ข้อ 96/2] กรณีหากยังไม่บรรลุนิติภาวะ ให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้มอบอำนาจขอโอนย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้าน ชั่วคราวแทน

"สำหรับผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลาง จะไม่สามารถขอทำบัตรประจำตัวประชาชนในต่างประเทศได้ ขอให้ติดต่อสำนักทะเบียนที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งย้ายชื่อออกจากทะเบียนบ้านกลางไปเข้าทะเบียนบ้านชั่วคราวสำหรับคน ที่เดินทางไปต่างประเทศ โดยดำเนินการด้วยตนเองหรือสามารถมอบอำนาจบุคคลอื่นดำเนินการแทน"



**หากมีข้อสงสัย ขอให้โทรติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายบัตรประจำตัวประชาชนไทย สถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก ในวันและเวลาราชการที่หมายเลขโทรศัพท์ (312) 664–3129 ต่อ 110